7479 Views |
ฟอร์แมทการเล่นแผ่นดิจิทัลที่เรียกว่า Compact Disc นั้น หากนับเวลาตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกจนถึงวันนี้ ก็มีอายุอานามมาเกือบ 40 ปีแล้ว และแม้วันนี้เราจะพบว่า วงการเพลงวงการแผ่นซีดีนั้นจะเริ่มถดถอยลง แต่ความต้องการในการเล่นแผ่นสีเงินนี้ ก็ยังคงอยู่เช่นเดิม และอาจจะแข็งแกร่งกว่าที่คิดก็ได้
เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก วันก่อนผมได้แวะเวียนเยี่ยมเยือนร้านขายแผ่นเสียงมือสองเจ้าประจำ เห็นกองแผ่นซีดีวางอยู่กองใหญ่ อดใจไม่ได้ถามคนขายดูว่า ขายได้ไหม? คำตอบที่น่าแปลกใจคือ ขายได้ ขายดีมาก อาจจะขายดีกว่าแผ่นเสียงด้วย! แถมตอนนี้รับซื้อไม่อั้น ราคาที่ขายก็แผ่นละสามสี่ร้อยบาท มีคนซื้อมากมาย ออกงานทีขายหมด แทบไม่พอ
แบบนี้ก็แสดงว่า นักเล่นนักฟังเพลงก็ยังไม่ได้ทิ้งซีดีกันไป แผ่นซีดียังคงขายได้ แม้จะหาแผ่นใหม่ๆขายตามร้านยาก แต่แผ่นเก่า แผ่นมือสอง มีมากมายก่ายกอง แถมที่สำคัญ “ราคาถูก” มากๆ ทั้งซื้อตรง ซื้อออนไลน์ ไปเมืองนอก อย่างญี่ปุ่นนี่ แผ่นมือสองราคาแทบจะเหมือนได้เปล่า เบอร์ดีๆเพลงดีๆสภาพดีๆทั้งนั้น พ่อค้าไทยหลายรายก็ไปเหมาแผ่นมือสองกันมาถูกๆ มาขายมือสองในเมืองไทยก็เห็นขายดิบขายดี เพราะหากจะพูดกันจริงๆ แม้ปัจจุบันการสตรีมมิงจะมาแรง ไฟล์ไฮ-เรสก็มาแรง แผ่นเสียงอะนาล็อกก็มาแรง ปัจจัยเหล่านี้แทบจะเบียดซีดีให้หายไปจากระบบ แต่พอเอาเข้าจริงๆ เราก็ยังฟังแผ่นซีดีกันอยู่ นักเล่นปัจจุบันนี้ก็ยังมีซีดีเก็บไว้มากมายและพร้อมที่จะเล่น คุณภาพเสียงเอง ถ้าว่ากันตรงๆก็เป็นรองแค่ไฟล์ไฮ-เรส แต่กับสตรีมมิงนั้น สบายๆชิลล์ๆ เพราะพวกนั้นก็ทำได้แค่ “เทียบได้กับเสียงจากซีดี” เท่านั้นเอง
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ผลิตหลายๆรายจะยังคงทำเครื่องเล่นซีดีป้อนตลาด ผมเองเพิ่งซื้อหนังสือเครื่องเสียงญี่ปุ่นมาดูรูป เล่มล่าสุดเดือนสิงหาคม 2018 นี่ ยังมีบทความรวมทดสอบเครื่องเล่นซีดีหลายสิบรุ่น จากผู้ผลิตระดับแนวหน้าทั้งนั้น ที่ยังคงป้อนเครื่องในกลุ่มนี้ออกมาตามปกติ ตั้งแต่เครื่องระดับกลางไปจนถึงระดับไฮ-เอ็นด์ ราคาแพงลิบลิ่ว คนญี่ปุ่นนี่ถือเป็นตลาดใหญ่ตลาดสำคัญ ก็ยังคงฟังเพลงจากซีดีเป็นหลัก ร้าน Tower Records, Disc Union ใหญ่ๆที่นั่นก็ยังขายซีดีเป็นปกติที่สุด และก็ขายดีเหมือนเดิม
ดังนั้นก็ไม่แปลก ที่วันนี้หากเรามองที่เครื่องเล่นซีดีเครื่องเก่าที่ประจำการอยู่นานหลายปีแล้วจะบอกตัวเองว่า “หาใหม่สักเครื่องเถอะน่า” เผื่อเอาไว้เล่นต่อเนื่องไปอีกสัก 5-6 ปี และหากคุณกำลังหาเครื่องเล่นซีดีสักเครื่อง ราคากลางๆ เพราะไม่อยากลงทุนมากในตอนนี้ และให้คุณภาพเสียงในแบบที่ฟังแล้วสบายใจสบายหู ผมก็อยากให้มองหาเครื่องเล่นซีดี NAD C568 เครื่องนี้แหละครับ
NAD C568 เป็นเครื่องเล่นซีดีรุ่นใหญ่สุดใน Classic Series ซึ่งตอนนี้มีให้เลือกสองรุ่นคือ C538 รุ่นเล็ก กับ C568 นี้ที่เป็นรุ่นใหญ่ โดย C568 นั้นนำเสนอในแพ็คเกจที่ครบครัน และใช้อุปกรณ์ต่างๆในทุกส่วนที่เหนือกว่ารุ่นน้องอยู่มากเลยทีเดียวก็ว่าได้
จุดแรก คือ DAC C568 นั้นใช้ DAC ของ Wolfson WM8741 ซึ่ง DAC ตัวนี้มีรายละเอียดในการทำงานระดับ 24 บิท Hi-resolution ที่แม้แผ่นซีดีไม่ว่าจะเป็นแบบใดนั้นยังคงเรโซลูชันที่ 16 บิท/44.1 ก็ตาม แต่การมี DAC ระดับ 24 บิทนี้ ก็จะสามารถช่วยในการเก็บเกี่ยวรายละเอียดจากแผ่น 16 บิทออกมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ช่วยดึงรายละเอียดออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่ง DAC ของ Wolfson ในยุคหลังนี้ความโด่งดังและความนิยมก็ดูเหมือนจะมาแรงแซง Burr-Brown กันไปนานหลายปีแล้ว
จุดที่สองที่ทำให้ NAD C568 เหนือกว่าก็คือ ภาคจ่ายไฟที่ใช้แบบ Linear Power Supply ว่าง่ายๆคือยังใช้ระบบหม้อแปลงกลมแบบทอรอยดัลอยู่ ซึ่งภาคจ่ายไฟแบบนี้ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ให้การรบกวนต่ำ การจ่ายไฟดี เสียงไม่แห้ง ไม่บาง ซึ่งเครื่องเล่นซีดีระดับสูงๆจะใช้ภาคจ่ายไฟแบบนี้ทั้งสิ้น
จุดที่สาม อุปกรณ์ต่างๆภายในตัวเครื่องนั้นเป็นแบบ Discrete แยกเป็นชิ้นๆตัวตัวๆ เป็นอุปกรณ์ เกรดดี อย่างเช่น Opamp OPA 2143, รีซิสเตอร์แบบเมทัล ฟิล์ม, คาปาซิเตอร์แบบโพลีย์โพรไพย์ลีน เป็นอาทิ
จุดที่สี่ ภาคขับเคลื่อนแผ่นของ C568 ยังคงเป็นแบบที่ออกแบบมาเพื่องานออดิโอโดยเฉพาะ ไม่ใช่การนำเอาภาคขับเครื่องดีวีดีหรือคอมฯมาใช้งาน นอกจากนั้นแล้วภาคดิจิทัล เอาท์ พุท ยังคงออกแบบอย่างจริงจัง มีภาคจ่ายไฟแยกเฉพาะ ใช้ระบบ Clock เกรดสูง ทำให้มี Jitter ต่ำ ซึ่งก็หมายความว่าทั้งหมดนี้ทำให้ C568 สามารถใช้งานเป็น CD Transport ชั้นดีได้ หากคุณต้องการอัพเกรดในอนาคต
จุดที่ห้า ตัวถึงของ C568 นั้นออกแบบมาแข็งแรงแน่นหนากว่าที่คิดมาก เห็นตัวบางๆอย่างนี้ ยกขึ้นมานี่มีน้ำหนักโอเคเลย เวลาเล่นเครื่องมีความนิ่งมาก ขาตั้งก็ออกแบบมาอย่างดี ตั้งวางแล้วนิ้งสนิทดีมาก พวกนี้ส่งผลดีต่อคุณภาพเสียงทั้งสิ้น
นอกจากนั้นแล้ว C568 ก็ให้ความครบครันดี เอาท์พุทมีมาให้แต่ RCA, Digital Out มีแบบCoaxial, และ Optical สายไฟก็เป็น IEC แบบถอดออกได้ให้เราหาสายเอซีดีๆมาจูนกันวันหลังได้อีก ปุ่มควบคุมต่างๆก็มีมาให้ครบทั้งหน้าเครื่องและรีโมท แถมยังมีช่อง USB ให้เล่นไฟล์เพลงจาก USB Drive ได้อีก เสียดายอย่างเดียวที่ช่องนี้รองรับแต่การเล่นไฟล์ MP3 เท่านั้น โดยชื่อเพลงชื่อศิลปินก็จะไปขึ้นที่หน้าจอของเครื่อง C568 ได้อีกด้วย
ตัวเครื่องนั้นออกแบบมาสวยกว่า NAD Classic Series รุ่นก่อนๆเยอะ ผมชอบรุ่นใหม่ๆที่ขอบข้างจะทำเป็นมนๆโค้งๆมาก มันทำให้เครื่องดูดีมีเกรด มีราคากว่าเก่าเยอะเลย ความแข็งแรงของตัวถังก็ดีกว่าที่คิดมาก งานผลิตประณีตสวยงามเกินราคา หน้าจอเป็น LFD สีฟ้าที่สามารถเลือกหรี่หรือปิดได้ก็สวยงามดี ปุ่ม Play/Pause เปลี่ยนเป็นแบบกลมๆหมุนเลือกเพลงได้สะดวกและง่ายดีครับ
เสียง
ผมได้ C568 มาแบบใหม่ๆแกะกล่องกันเลย จัดแจงเบอร์น-อิน ไว้หลายสิบชั่วโมง แล้วก็มาฟังกันอย่างจริงๆจังๆ การทำงานนั้นราบรื่นมาก ไม่อยากบอกว่าบางวันผมเผลอตั้ง Repeat ไว้ข้ามวันเลย (เพราะดันไปปิดหน้าจอ) เล่นติดกันไปสองวันมั้งครับ เครื่องก็ชิลล์ๆ ไม่ร้อน ไม่รวนอะไรทั้งนั้น เป็นปกติที่สุด ก็ถือว่าผ่านเรื่องความคงทนกันไป (ฮา แก้ตัว)
พูดถึงปิดหน้าจอ ถ้าไม่ซีเรียสว่าต้องเห็นตัวเลขตลอด ผมแนะนำให้ปิดเลยครับ เสียงมาครบมาเต็ม ได้โฟคัสกว่าพอสมควรทีเดียว
เสียงจาก C568 นั้น ผมเริ่มฟังจากแผ่น Verve 50th Anniversary: The Jazz Masters แทร็คแรกขึ้นมา Tea for Two ในแบบบิกแบนด์ นี่เสียงจาก C568 นี่ก็สะดุดหูมากเลยกับความอิ่มนุ่ม เสียงเครื่องเป่าต่างๆไม่กราดเกรี้ยวรุนแรงจนเจ็บแสบหู แต่คงความสดใสน่าฟังไว้แบบกำลังดี เบสส์อิ่มแน่น เสียงร้องของVanessa Williams สะอาด ชัดและมีโฟคัสอยู่ตรงกลาง
จุดเด่นที่สังเกตได้เลยคือ เป็นเครื่องที่ให้เวทีเสียงทางลึกได้ดีมาก หากเทียบกับแหล่งโพรแกรมอื่นที่ฟังอยู่ก่อนหน้า ก็เห็นได้ชัดเลยว่า รูปแบบวงหรือซาวน์ดสเตจ ด้านลึกของ C568 นั้น ถอยลงไปหลังลำโพงอย่างน่าประทับใจเลยทีเดียว ผมฟังแผ่นนี้ไปเรื่อยๆกับแจสส์หลายรูปแบบที่มารวมกันเล่นในงานครบ 50th ปีของค่ายเพลงที่ยิ่งใหญ่ค่ายนี้ (แผ่นนี้ออกมานานหลายสิบปีแล้วครับ) ก็พบว่า C568 สามารถให้การตอบสนองต่อเสียงที่หลายหลายสไตล์ เมื่อมาถึงเพลงเดี่ยวเปียนโน ก็ให้เสียงเปียนโนเสียงกลางที่สะอาดสะอ้าน มีขนาดโฟคัสระดับกลาง ความชัดเจนดี เปียนโนมีขนาดกลางๆกำลังเหมาะ บรรยากาศรายรอบดี เมื่อเปลี่ยนมาเป็นวงแจสส์ ทริโอ ก็ให้ความรู้สึกสนุกสนาน วางตำแหน่งชิ้นดนตรีได้ดี มีบรรยากาศรายล้อมที่ดี อย่างเช่น เพลง How Insensitive ที่ Antonio Carlos Jobim ดูเอ็ท กับ Pat Methany นั้น สงัด ได้บรรยากาศ หางเสียง โฟคัส ที่ดีน่าประทับใจครับ
จากนั้นผมไปหยิบเอาแผ่นซีดีที่ได้มาจากการแถมของหนังสือเครื่องเสียงของญี่ปุ่นที่ชื่อ Audio Accessories แผ่นแถมกับหนังสือพวกนี้ เสียงดีมากครับ แต่อ่านไม่ออกว่าใครเล่น เล่นเพลงอะไร เพราะเป็นภาษาญี่ปุ่น และส่วนใหญ่จะเป็นเพลงคลาสสิคที่ผมไม่รู้จัก (ฮา) รู้แต่ว่า เครื่องดนตรีอะคูสติคเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นไวโอลิน หรือเชลโล่ เวลาเล่นผ่าน C568 นั้น มีความเป็นธรรมชาติที่ดีมาก ฟังสบาย เวลาไวโอลิน เล่นโน้ตสูงๆ ก็รู้สึกว่าไปได้สูงดี เชลโล่เล่นโน้ตต่ำๆก็เล่นได้ดี มีแผ่นหนึ่งเป็นการรวมเพลงจากค่าย Decca มีการเล่นเพลงแบบออร์เครสตราเต็มวง ก็ให้เวทีเสียงที่ลึกดีมาก กลองทิมปะนีนี่ไปด้านหลังไกลๆเลย ผมว่าด้านลึกจากเครื่องเล่นซีดีเครื่องนี้ ดีกว่าด้านกว้างครับ ใครชอบวงถอยไปหลังๆเยอะๆ ให้รูปวงแบบพาราโบลาร์ รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน
จากนั้นผมได้ลองฟัง NAD C568 ในแบบของการใช้เป็นซีดี ทรานสปอร์ต ร่วมกับ DAC ภายนอกที่มีราคาขายประมาณห้าหมื่นบาท โดยต่อผ่านสายแบบ Coaxial ซึ่งผมพบว่าเสียงที่ได้ออกมานั้น อัพเกรดขึ้นไปไม่เยอะครับ! ผมพบว่า DAC ที่มีราคาแพงกว่า 568 อยู่สองสามเท่าตัวนี้ ช่วยในแง่ความกว้างของเวทีเสียงกับความนุ่มเนียนขึ้นมาอีกนิดหน่อย ไม่ได้มากมายอะไรเท่าไหร่ อันนี้หมายความว่าอะไร? ก็หมายความว่า DAC ในตัวของ NAD นั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียวครับ ผมแนะนำเลยว่าใช้เดี่ยวๆนี่แหละครับดีที่สุดแล้ว อัพเกรด DAC นี่ก็คงต้องใช้ที่ราคาแพงมากๆถึงจะเห็นผลแบบชัดเจนนะครับ (เช่น NAD M51 เป็นต้น)
สรุป
โดยรวมเป็นเครื่องมีความคุ้มค่าในตัวเองสูงมากครับ ที่ให้เสียงในแนวเบสส์ อิ่ม นุ่ม แน่น กระชับ รายละเอียดดีแบบไม่ยัดเยียด กลางมีน้ำมีเนื้อ มีความสะอาด แหลมพลิ้วเนียนฟังสบาย ไม่แรงไม่สดเกินไป กำลังดี ฟังเพลงได้เพลินดีครับ การทำงานต่างๆก็ราบรื่น กลไกเงียบ นิ่ง
จึงเหมาะสำหรับใครก็ตามที่เครื่องเล่นซีดีเครื่องเดิม เริ่มอ่านบ้างไม่อ่านบ้าง หรือเริ่มมองหาเครื่องเล่นซีดี เครื่องใหม่สักเครื่องที่จะมาใช้งานในช่วงเวลานี้ที่ ไม่แน่ใจว่าจะไปทางไหนต่อดีในสี่ห้าปีนี้ เพราะไม่อยากลงทุนไปกับเครื่องที่มีราคาสูงๆก็น่าจะพิจารณาได้ครับ เพราะราคาของ C568 นั้นอยู่ระดับกลางๆ ให้เสียงที่โอเค สบายใจ ลงทุนกันได้ คุณภาพเสียงนั้นก็ดีพอที่จะรองรับการใช้งานไปได้อีกหลายปี ฟังสบายเป็นดนตรี ฟังได้นาน ฟังได้ทน
ขอแนะนำให้ไปทดลองฟังกันด้วยตัวเองดูสักครั้งครับ