NHT C-4

3273 Views  | 


          เมื่อฉบับที่แล้วผมได้ทำการทดสอบลำโพง NHT รุ่นใหม่ล่าสุดคือ C-3 ไปด้วยความประทับใจ ด้วยความเป็นลำโพงตั้งบนขาตั้งที่ให้เสียงแนว Audiophile เต็มขั้น เต็มไปด้วยความแพรวพราวทางด้านคุณภาพเสียงที่นักฟังที่จริงจังจะชื่นชอบได้ มาคราวนี้ก็อดรนทนไม่ไหว ว่ารุ่นวางหิ้งนั้นมีความน่าประทับใจมาก แล้วทีนี้หากเป็นตัวท็อพตั้งพื้นเลยละจะขนาดไหน ว่าแล้วก็มาลุยกันต่อเลยดีกว่า กับรุ่น C-4 นี่แหละครับ

ความเป็นมา

          ลำโพง NHT นั้นแต่ไหนแต่ไรจะดังมากในกลุ่มลำโพงวางหิ้ง ตั้งแต่ Super Zero, Super One ไล่ไปจนรุ่นหลังๆอย่าง Classic Three แต่หากเราจะดูกันจริงๆแล้ว ลำโพงที่ทำให้ NHT นั้นดังติดกลุ่มลำโพงระดับสูงของโลกได้นั้น ล้วนเป็นลำโพงตั้งพื้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น 3.3 ที่สร้างชื่อเสียงที่สุด ตอนนั้นนิตยสาร Stereophile นี่ไม่ยอมเอาลำโพงราคาขนาดนั้นมาติดคลาสส์หรอกครับ (มันถูกไป) แต่สุดท้ายหากจำไม่ผิดก็ติด Recommended Components ไป น่าจะ Class-B (สมัยนั้นติด Class กันยากครับ) รุ่น 3.3 นี่สุดๆครับ รูปร่างหน้าตาแปลกมาก คือหน้าแคบเหมือนลำโพงวางหิ้ง แต่ความลึกของตู้นี้เป็นเมตรเลย เพราะเอาวูฟเฟอร์ 12 นิ้วมาไว้ด้านข้าง แถมมีหน้าเอียงโทอิน อีกต่างหาก ผิวตู้ก็แปะผิวเหมือนอะลูมิเนียม กัดเสี้ยน สวยสุดๆ แปลกสุดๆ และก็กินวัตต์ สุดๆเหมือนกัน  

หลังจากนั้นก็มา Evolution T6 ที่ดังมาด้วยติด Class-A Stereophile Recommended ในทันทีที่ออก ตัวนี้มาแนวกึ่ง Studio Modular มีแอมป์ในตัวขับเสียงทุ้ม มีแอ็คทีฟว์ ครอสส์โอเวอร์ แยกชิ้น เล่นเป็น Bi-Amp เต็มระบบ เสียงดีมากๆ แต่เล่นยากไปนิด (เข้าใจยาก) บ้านเราเลยไม่ค่อยดังมาก แต่ใครได้ลำโพงซีรีส์นี้ไป ขอบอกเลยว่าสุดยอดครับ เสียงจริงจังเด็ดขาดมาก โดยเฉพาะใช้ดูหนังนี่โรงหนังอาย...ขอบอก

          และหากเราว่ากันด้วยรุ่นรองลงมา ก็คงไม่มีใครไม่รู้จัก Classic Four นะครับ ลำโพงตั้งพื้นที่ขายดีที่สุดของเราก็ว่าได้ วางตลาดมา 10 ปีพอดี กับความโดดเด่นของเสียงที่สะอาด เปิดโปร่ง น่าฟัง ซึ่งหลังจากที่วางตลาดกันนานพอดู ก็ถึงเวลาที่ต้องมีตัวมาทดแทนกันละครับ

ซึ่งก็คือ C-4 นี้นี่เอง


ภายนอก

          หากเราเช็คประวัติลำโพงวางหิ้งรุ่นท็อพของ NHT มาตลอด เราจะพบหลักการหนึ่งที่ยืนมาตลอด คือการออกแบบลำโพงหน้าแคบ หากเป็นรุ่นตั้งพื้นใช้วูฟเฟอร์ ขนาดใหญ่ เช่น 10 นิ้ว ก็จะให้ตัววูฟเฟอร์ติดไว้ที่ด้านข้างของตู้ ซึ่งแนวทางการออกแบบเช่นนี้นั้น เพราะหากต้องการลำโพงที่เบสส์ลงลึกแล้ว ต้องใช้วูฟเฟอร์ขนาดใหญ่ หากติดที่หน้าตู้ตามปกติ จะทำให้แผงหน้ากว้าง ซึ่งไปรบกวนการกระจายเสียง ทำให้ไปรบกวนมิติและเวทีเสียง ดังนั้นจึงแก้ปัญหาด้วยการเอาวูฟเฟอร์ไปไว้ข้างๆแทน ซึ่งย่านเสียงทุ้มในย่านนี้จะไม่มีทิศทาง ทำให้ไม่มีผลอะไรต่อการกระจายเสียงทุ้ม และก็ได้ประโยชน์ที่สามารถทำลำโพงหน้าแคบเหมือนลำโพงวางหิ้งได้

          แต่การนำเอาไดรเวอร์เสียงทุ้มมาไว้ด้านข้างนั้น ก็มีข้อเสียที่ต้องแลกมาเหมือนกัน คือหากตรงกลางระหว่างลำโพงจำเป็นต้องมีชั้นวางเครื่องเสียงหรือทีวีขั้นอยู่ มันจะส่งผลโดยตรงกับการกระจายเสียงทุ้มจากทางด้านข้าง เพราะโดนบัง ซึ่งแม้เราจะกลับข้างกันได้ คือสลับข้างกัน เพื่อเอาวูฟเฟอร์ออกไปทางอีกด้านหนึ่ง แต่ถ้าอีกด้านหนึ่งมีระยะทางใกล้กับผนังข้างมาก เบสส์ก็อาจจะบูมได้เช่นกัน

          ทางแก้อีกทางเพื่อให้ได้มาซึ่งมิติเวทีที่ดีด้วยลำโพงหน้าแคบนั้นก็คือ เปลี่ยนมาใช้วูฟเฟอร์ขนาดเล็กทำงานร่วมกันมากกว่า 1 ตัวแทน ซึ่งโชคดีที่เทคโนโลยีวูฟเฟอร์ดีขึ้นมาก สมัยนี้วูฟเฟอร์ 6.5 นิ้ว ตัวเดียว ให้เบสส์ได้ดีกว่า 10 นิ้ว สมัยก่อนๆสบายๆ ยิ่งออกแบบมาดีๆนั้น ก็แทบไม่จำเป็นต้องใช้วูฟเฟอร์ใหญ่ๆเลย

          อย่าง C-4 นี้ ก็หันมาใช้วูฟเฟอร์ 6.5 นิ้ว กรวยโพลีย์โพรไพย์ลีน ขอบยาง 3 ตัว ทำงานร่วมกันในระบบสี่-ทางคู่ คือตัวบนที่วางติดกับมิดเรนจ์นั้น ตอบสนองกลางต่ำ ส่วนอีกสองตัวล่าง ทำงานบวกกันในส่วนทุ้มลงมาทั้งหมด 6.5 + 6.5 เท่ากับ 13 นิ้วครับ คิดกันแบบตรงๆง่ายๆนี่แหละ ดังนั้นเบสส์ที่ได้ก็ไม่ต่ำกว่าการใช้วูฟเฟอร์ 10 นิ้ว ในรุ่น Classic Four เดิมแน่นอน แถมได้ความง่ายในการจัดวางให้เข้ากับรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายกว่าเดิมมาก แผงหน้าก็แคบได้เหมือนเดิม ตู้ไม่ต้องลึกมากเหมือนเดิมแล้ว การกระจายเสียงรอบๆตัวลำโพงจึงทำได้ดีขึ้นไปอีก

          C-4 ออกแบบเป็นลำโพงแบบสี่-ทาง ด้านบนนั้นจะว่าไปก็เหมือน C-3 แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ครับ คือเป็นส่วนกลางแหลมแบบสาม-ทาง ประกอบไปด้วยทวีทเตอร์ โดม อะลูมิเนียม 1 นิ้ว, เสียงกลางอะลูมิเนียมโดม 2 นิ้ว และวูฟเฟอร์โพลีย์โพรไพย์ลีน 6.5 นิ้ว จำนวน 3 ตัวทำงานร่วมกัน ทำให้ระบบสามารถตอบสนองความถี่ได้ 45-20,000 เฮิทซ์ ความต้านทาน 6 โอห์ม และความไวยังโหดอยู่ที่ 86 ดีบี เพราะคราวนี้ทำงานเป็นตู้ปิด 100 เปอร์เซ็นต์ (Classic Four ส่วนของวูฟเฟอร์ด้านล่างทำงานเป็นตู้เปิด) ทาง NHT แนะนำให้ใช้กับแอมป์ 75-200 วัตต์ ซึ่งเท่าที่ลองนั้นแอมป์สัก 100 วัตต์ขึ้นไปจะเหมาะครับ ต่ำกว่านั้นอย่าเอามาเล่นครับ

          ตัวตู้มีความสูงเพรียว ด้านบนเหมือน C-3 คือ หน้าตรง แต่ไปเอียงทางด้านหลัง อธิบายยาก ดูรูปคงเข้าใจครับ จุดดีตรงนี้ผมเรียนไปเมื่อคราวก่อนว่า ดีตรงที่เสียงมันจะกระจายโอบล้อมไปทางด้านหลังได้ง่ายขึ้น ส่งผลเรื่องเวทีเสียง อิเมจจิง และบรรยากาศที่ดีขึ้นแน่นอน (พิสูจน์มากับ C-3 แล้ว) ตัวตู้สูงชะลูด เพรียว และดูขนาดย่อมกว่า Classic Four พอสมควร ผิวตู้เป็น High Gloss Black พร้อมฐานตั้งที่ดูแข็งแรงสวยงามมากๆ  และที่เป็นเอกลักษณ์ของ NHT เหมือนเดิม คือต่อได้แต่ Single Wire ครับ

รวมๆเป็นลำโพงที่มีรูปลักษณ์ที่สวยงาม ทันสมัย และผนวกไว้ด้วยความหรูหราเต็มขั้นครับ


เสียง

          ไม่ต้องคิดจะเอาแอมป์เล็กๆอย่าง D3020 มาขับเลยครับ 555 ไม่ไหวจริงๆต้องยอมรับ แอมป์ ที่ต้องมาขับลำโพงคู่นี้อย่างต่ำๆต้อง C375BEE หรือจะให้ดี ไป C390DD, M2, M12/ M22 ครับ ความไวระดับ 86 ดีบี นี่ต้องยอมรับว่ากินวัตต์พอสมควร เพราะคราวนี้มาเป็นตู้ปิด 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ผมเลยจัดด้วยแอมป์เต็มตัวท็อพ NAD ตั้งแต่แรกเลยดีกว่า ว่าแล้วต่อคู่ M12/M22 ไปครับ

          การเซ็ทอัพนั้น แต่ไหนแต่ไร NHT จะแนะนำให้จัดวางแบบ 1.5 คือ ตำแหน่งนั่งฟัง นั้นมีระยะห่างจากแผงหน้าลำโพงเท่ากับ 1.5 เท่า ของระยะห่างของลำโพงทั้งสองข้าง เช่น หากลำโพงซ้ายและขวาห่างกัน 2 เมตร เราก็นั่งห่างออกมา 3 เมตรแบบนั้นแหละครับ แต่จากการที่ผมลอง C-3 เมื่อคราวที่แล้ว ผมชอบตำแหน่งฟังแบบเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่าเลย คือหากลำโพงห่างกัน 2 เมตร เราก็นั่งห่างออกมา 2 เมตรครับ ผมว่ามันทำให้ได้บรรยากาศแบบ Nearfield ดี อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งในแต่ละห้องนั้นไม่เท่ากันครับ ต้องทดลองกันเองอีกที รวมถึงเรื่องการโท-อินด้วย ซึ่งในการทดสอบนี้ผมพบว่าไม่ต้องโท-อินมากมายอะไรครับ นิดๆน้อยๆมาก หรืออาจจะไม่ต้องโท-อินเลยก็ได้ แล้วแต่ห้อง แล้วแต่ตำแหน่งครับ

          การต่อลำโพงแบบ Single Wire นั้น ผมก็ชอบครับ แต่ไหนแต่ไรผมว่ามันไม่เปลืองดีออก เอางบไปลงสายดีๆแบบ Single Wire ดีกว่าครับ

          โทนเสียงที่ได้จาก C-4 นั้น ก็มาแนวเดียวกับ C-3 ครับ คือให้เสียงที่เปิดโปร่งมากๆ แนวเสียงกลางแหลม โปร่งใสสะอาด เหมือนฟังลำโพงแผ่นอีเล็คโทรสแตติค  แนวเสียงนี้จะดีแผ่รายละเอียดย่านกลางแหลมนั้นจะเต็มไปด้วยรายละเอียดหยุมหยิมที่น่าฟัง บรรยากาศ หางเสียง เสียงก้องสะท้อนที่ติดตามเสียงเครื่องดนตรีออกมา จะมีรายละเอียดมากขึ้นเป็นพิเศษ ส่งให้การฟังมีความแพรวพราวสนุกสนาน

          อิเมจจิง เวทีเสียง ที่โดดเด่นมาแต่รุ่นวางหิ้งนั้น มากับตัวนี้ก็ไม่ได้แพ้กันครับ แต่ผมกลับมีความรู้สึกว่าตัวตั้งพื้นนี่ให้เวทีเสียงได้อลังการณ์กว่า! คือตามหลักลำโพงเล็ก จะได้เปรียบที่ให้มิติเวทีที่ชัดเจนกว่า แต่กับลำโพงตั้งพื้นที่ยืนอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน แบบ NHT C-4 นี้ผมกลับว่าการที่มีเสียงทุ้มที่ตอบสนองได้ดีขึ้น มันจะเสริมให้เวทีเสียงมีความโอ่อ่า โอ่โถง และมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะเห็นได้ชัดเลยว่า เวทีเสียงและขนาดของชิ้นดนตรีที่ได้จาก C-4 นี่ ดูใหญ่ ดูกว้างขวาง ดูโอ่โถง เป็นอิสระกว่า ความนิ่ง ความชัดก็ดีกว่า เพราะว่าคราวนี้ลำโพงตั้งอยู่บนขาของตัวเอง ไม่ต้องไปพึ่งขาตั้ง ซึ่งหากไม่ดีจริง จะกลับไปลดทอนคุณภาพเสียงลงไปได้นั้นเอง

          ดังนั้น C-4 จึงเป็นลำโพงที่ฟังเพลงเพลินมากๆ เวลาเปิดเพลงขึ้นมาเหมือนลำโพงทั้งคู่ หายไปในทันที แบบที่เขาเรียกว่าลำโพงล่องหนนั้นแหละครับ คือเวลาเรามองไปข้างหน้า จะเห็นเสียง เห็นที่มา เห็นตำแหน่งของเสียง ที่เรียกกันว่าอิเมจจิงนั่นแหละ เราสามารถมองเห็นเวทีเสียง ตำแหน่งตื้น ลึก กว้าง แคบ ตรงกลาง ซ้ายขวา มาจาก “รอบๆ” ของตัวลำโพง! เสียงมาจากอาณาบริเวณรอบๆลำโพงทั้งหมด แต่กลับเหมือนลำโพงตั้งอยู่เฉยๆเหมือนไม่ได้มีเสียงออกมาจากตัวมัน นั่นคือความแจ๋วของลำโพงที่ให้มิติดีๆเช่นนี้ ซึ่งกับ C-4 นี่ต้องเรียกว่าเป็นจุดเด่นอย่างยิ่งก็ว่าได้

          เสียงทุ้มนั้นหลายๆคนอาจจะมีความสงสัยว่า เมื่อเปลี่ยนมาใช้วูฟเฟอร์เล็กหลายตัว เมื่อเทียบกับ 10 นิ้วตัวเดียวในรุ่น Classic Four แล้ว เบสส์ใครจะดีกว่ากัน อันนี้ก่อนอื่นผมมีความเห็นว่า แต่ไหนแต่ไร NHT ไม่ใช่ลำโพงที่ทำออกมาเน้นเบสส์ แนวหนา อ้วน อิ่ม นุ่มอะไรแบบนั้นอยู่แล้วนะครับ กับ Classic Four เองก็เช่นกัน แม้จะใช้วูฟเฟอร์ 10 นิ้ว มันก็ไม่ได้เป็นลำโพงเสียงหนาเบสส์ อ้วน อิ่มอะไรแบบนั้นมาแต่แรกแล้ว เพราะมันไม่ใช่แนวของเขา กับ C-4 นี้ก็เหมือนกัน เบสส์ที่ได้ออกมาก็ยังคงมีความเป็น NHT อย่างเต็มเปี่ยม คือเก็บตัวไว เร็ว กระชับ ตึง ไดนามิคดี อันเป็นบุคลิกที่ดีเยี่ยมของลำโพงแบบตู้ปิดนั่นเอง เพราะการที่ตู้ปิด และใช้อากาศภายในตู้เป็นเหมือนสปริงผลักดันกรวยวูฟเฟอร์ โดยไม่มีการรบกวนรั่วไหลของอากาศใดๆ การขยับของกรวยจึงมีความลิเนียร์มาก วูฟเฟอร์ขยับเป็นเส้นตรงเดียวกันตลอด เบสส์ที่ได้จึงมีความเพี้ยนต่ำ คุมตัวอยู่ได้ดี จึงให้บุคลิกเสียงเบสส์ที่กระชับ สะอาด ความเพี้ยนต่ำ บทจะลงลึก ก็ลงลึกถึงใจโดยไม่เพี้ยน ไม่พร่าบวม หรือบูมมี่ และมาคราวนี้เป็นตู้ปิด 100 เปอร์เซ็นต์ คุณจึงได้เบสส์ ในแบบที่หาในลำโพงอื่นๆในยุคนี้ได้ยากแล้วละครับ ตั้งแต่ AR จากลาไป ก็จะเหลือแต่ NHT นี่แหละครับที่ยังคงสืบสานเบสส์แบบตู้ปิดที่ทุกวันนี้หาฟังยากเหลือเกิน



          และเพราะกับการที่เบสส์สะอาด กระชับ เก็บตัวเร็ว ไม่หนานี่ มันส่งผลในองค์รวมของเสียง นั้น กลมกล่อมไปด้วยความเปิด โปร่งใส ชัด เสียงกลางมีความสะอาด ราบเรียบ การแยกเสียงกลางให้โดม 2 นิ้ว ทำงานนั้น มันเด่นมาแต่สมัย Classic Three แล้ว มาคราวนี้ก็ยังเด่นอยู่ แถมการออกแบบตู้แบบใหม่ ทำให้มีอิสระในการกระจายเสียงดีขึ้นอีก ซีรีส์ C-4 นี้จึงให้เสียงที่ “หลุดตู้” มากกว่ารุ่นเก่าครับ

ขอแค่แอมป์เหมาะๆเถิดครับ รับรองไปไกลแน่นอน

สรุป

          C-4 เป็นลำโพงตั้งพื้นสมัยใหม่ รูปทรงงดงาม สวยบาดใจ ที่ให้เสียงได้น่าฟังในแบบออดิโอไฟล์เต็มพิกัดครับ ใครที่ชอบฟังลำโพงที่ให้เสียงที่น่าตื่นเต้น แพรวพราวด้วยลูกเล่นทางด้านเสียงแบบครบเครื่อง ตอบสนองความถี่ยอดเยี่ยม เที่ยงตรง ความโปร่งใส ปลายแหลมที่ละเอียดยิบ เวทีเสียงที่เป็นสามมิติ กลางที่เปิดโปร่ง ทุ้มที่กระชับ ไวแบบตู้ปิด ให้ความสนุกในการฟังอยู่ตลอดเวลา ใครชอบเพลงร้องแบบนักร้องชัดเปรี้ยะ คลาสสิค โปร่งๆ แบบเห็นเส้นสายและบรรยากาศของโถงการบันทึก ใครชอบเพลงจีนที่เห็นเครื่องดนตรีเป็นภาพคมชัดแบบ HD ใครชอบแผ่น Audiophile เป็นพิเศษ หรือชอบดูหนังแบบเสียงกว้างๆเป็นพิเศษ ผมแนะนำให้มาลองฟังลำโพงคู่นี้ดูครับ แล้วจะไม่ผิดหวังแน่นอน

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy